top of page

Happy Birthday, America! เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสหรัฐอเมริกา (ฉบับแม่ๆ)

ในรูปที่เห็นข้าง day care ของลูกคนโตกำลังเตรียมพร้อมสำหรับวันชาติอเมริกา ซึ่งตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคม มีทำเพ้นท์เสื้อให้เป็นรูปดอกไม้ไฟ ติดดาวกระดาษบนธงชาติอเมริกา (ของจริงมีดาวทั้งหมด 50 ดวงแทนรัฐทั้ง 50 รัฐ) ตัวเราเองก็ย้ายมาอาศัยอยู่ที่ประเทศนี้ได้ครบ 1 ปีแล้วเลยอยากเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับอเมริกาที่เราได้เจอมาให้อ่านกันนะคะ

1. วันที่ 4 กรกฎาคม (4th of July) คือวัน Independence Day เป็นวันที่ founding fathers ผู้ก่อตั้งประเทศอเมริกาเซ็นลงนามประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักร (Declaration of Independence) ในวันที่ 4 ก.ค. 1776 หรือวันนี้เมื่อ 241 ปีที่แล้ว

ผู้คนจะฉลองกันโดยการพบปะสังสรรค์กันตามสวนหลังบ้านใครสักคนแล้วก็จะปิ้งย่างในเตาบาร์บีคิวหรือที่เรียกว่า Grilling กัน เมนูก็สไตล์อเมริกันจ๋าๆเลยค่ะ แฮมเบอร์เกอร์ ไส้กรอก ฮอทดอก ไก่ย่าง ข้าวโพดย่างทาเนย ทานคู่กับมันฝรั่งแผ่น สลัด และผลไม้ บางบ้านก็ออกไปปิ้งย่างกันตามสวนสาธารณะ ตกเย็นคนก็ไปดูดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองวันชาติอเมริกา

2. ส่วน Boston Tea Party หรือเหตุการณ์ที่คนอเมริกันโยนชาลงอ่าวบอสตันเพื่อคัดค้านการเก็บภาษีของอังกฤษถ้าหากอังกฤษไม่ยอมให้อเมริกาส่งตัวแทนไปนั่งในรัฐสภา (No taxation without representation) นั้นเกิดก่อนวันประกาศอิสรภาพค่ะ เขาโยนชากันในเดือนธ.ค. 1773 แล้วหลังจากนั้นก็มีหลายเหตุการณ์เรียกรวมๆว่า American Recolution ก่อนจะถึงวันที่เซ็นประกาศอิสรภาพกัน อันนี้ เราขอโน้ตไว้เพราะพ่อสามีเราถามว่า Independence Day คือวันอะไรแล้วเราตอบไปอย่างมั่นใจว่า Boston Tea Party แป่ว! ผิดจ้า 555

3. ประเทศนี้เชื่อว่า ชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข (Life, Liberty, and the Pursuit of Happiness) เป็นสิทธิที่เราทุกคนได้รับตอนที่เกิดมา และรัฐบาลหรือผู้ปกครองมีหน้าที่ปกป้องสิ่งนี้ อันนี้คือความเชื่อหลัก เวลาดูข่าวเราจะเห็นพรรคใหญ่ 2 พรรคคือพรรคเดโมแครต (ซึ่ง โอบามา ปธน.คนก่อนมาจากพรรคนี้) และพรรคริพับลิกัน (ปธน.ทรัมป์เป็นตัวแทนจากพรรคนี้ค่ะ) ซึ่งสิ่งที่ทำให้สองพรรคนี้แตกต่างกันอย่างมากอยู่ที่คำถามพื้นฐานเรื่องหน้าที่ของรัฐบาลค่ะ สรุปสั้นๆคือ พรรคเดโมแครตต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของทุกๆคนให้ดีขึ้น หรือมี Social services ในขณะที่พรรคริพับลิกันนั้นเชื่อว่ารัฐควรตัดค่าใช้จ่ายช่วยเหลือส่วนกลาง ถ้าเศรษฐกิจดี ทุกอย่างก็จะดีเอง รัฐไม่ต้องมาคอยจัดการทุกอย่าง เมื่อกี้นี้แค่ประเด็นใหญ่ๆนะคะ มันยังมีเรื่องอื่นๆอีก เช่น ความเชื่อในเรื่องสิทธิการทำแท้ง ซึ่งต้องดูเป็นรายบุคคลไปว่าใคร anti-abortion มองว่าการทำแท้งคือการฆ่าเด็กในท้องที่กำลังจะเกิดมา หรือใคร pro-choice มองว่าผู้หญิงมีสิทธิเลือกได้ว่าต้องการทำอะไรกับร่างกายตนเอง

4. ที่นี่คนจะถูกสอนให้ยืนยันในสิทธิของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ควรจะเคารพสิทธิของผู้อื่นด้วย ยกตัวอย่างเช่นเวลาไปเข้าห้องน้ำในที่สาธารณะ เราจะได้ยินแม่บอกลูกให้ stay in the line หรือเข้าแถว ไม่มีมายืนออหน้าประตูห้องน้ำ หรือเวลาไปซื้อของตามซุปเปอร์มาร์เก็ต (grocery shopping) ถ้าลูกค้าไปยืนออกันหน้าเคาน์เตอร์เนื้อและมีพนักงานน้อยกว่าจำนวนลูกค้า ทุกคนจะมองกันและกันแล้วรู้เลยว่าใครมาก่อน-หลังแม้ว่าจะไม่ได้เข้าแถวก็ตาม พอพนักงานว่าแต่ละคนก็จะชี้ไปที่คนที่มาก่อนให้ได้รับบริการก่อน จะไม่ค่อยเจอนิสัยมนุษย์ป้าๆลุงๆที่นี่ แต่ถ้าเกิดมีใครมาปาดคิวคนอื่นหน้าตาเฉยนี่เตรียมตัวได้ยินประโยค Excuse me! เชิงไม่พอใจได้เลยค่ะ

5. พูดถึงเรื่องสิทธิของคนที่มาก่อนแล้วทำให้นึกถึงเรื่อง "right of way" เวลาขับรถที่อเมริกา จะมีกฎว่าในแต่ละถนน ผู้ใช้ถนนคนไหนมีสิทธิที่จะใช้ทางตรงนั้นเหนือคนอื่น และเป็นฝ่ายถูกถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น คนเดินเท้า (pedestrians) มี right of way เหนือทุกคนบนโลกใบนี้ไม่ว่าจะตรงสี่แยก ทางม้าลาย หรือเดินตัดถนนหน้าตาเฉย ใครไปชนคนเดินเท้าผิดเต็มๆค่ะ โทษหนักด้วย จึงไม่แปลกใจเลยที่คนขับรถจะหยุดให้คนเดินเท้าข้ามถนนตอนไหนก็ได้

6. ประเทศนี้ถ้าเราขับรถไปสี่แยกที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจรและมีป้าย STOP บอกให้รถจากทุกทางหยุด เราต้องดูตัวเราเองและรถจากทิศทางอื่นว่าใครมาถึงสี่แยกก่อนได้ไปก่อน และจะไม่มีการพอคันหน้าได้ไปแล้วคันหลังติดสอยห้อยตามนะคะ คิวใครคิวมัน คันหลังก็ต้องรอรถที่มาจากทางอื่นที่ถึงป้าย STOP ก่อนไปก่อนแล้วค่อยถึงตาคันหลังค่ะ

7. คนที่นี่พยายามสอนเด็กให้พูดสิ่งที่ตัวเองต้องการออกมา อย่างลูกคนโตเราเริ่มพูดเป็นคำๆได้แล้วแต่ยังไม่คล่องดี เวลาร้องไห้งอแงแบบไม่มีสาเหตุจากอาการเจ็บป่วยจะโดนพ่อสั่งเลยค่ะว่า "Use your words" ให้บอกมาว่าจะเอาอะไร และสำหรับผู้ใหญ่ถ้าเราต้องการให้ใครทำอะไรให้เรา เราต้อง "ask for it" ต้องกล้าพูดออกมา อารมณ์คนที่นี่จะเป็นแบบกล้าขอก็กล้าให้ ใช้ได้กับทุกเรื่องทั้งเรื่องต่อรองเงินเดือน ขอส่วนลดสินค้าให้เขาขายเราเท่ากับราคาที่เราสามารถซื้อได้ออนไลน์ (price matching) หรือขอเงินคืนสำหรับสินค้าที่เราไม่มีใบเสร็จ!!

8. เวลาซื้อบ้านนอกจากดูว่ามีกี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ และเนื้อที่กี่ sq.ft. แล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าสำหรับพ่อแม่ที่มีเด็กเวลาเลือกดูบ้านคือต้องดู School District หรือเขตการศึกษาด้วยว่าดีหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้มีความหลงเหลือของการกีดกันสีผิวอยู่เหมือนกัน เพราะในอดีตเวลาเขาวางแผนเมืองคนจะแบ่งโซนที่อยู่อาศัยของคนขาวกับคนแอฟริกันอเมริกัน ต่างคนก็ไปโรงเรียนของใครของมัน คุณภาพการศึกษาก็ต่างกัน ฝั่งคนขาวได้รับการสนับสนุนจากรัฐดีกว่าเพราะคนขาวสมัยก่อนรวยกว่า รัฐเก็บภาษีได้เยอะกว่า ต่อมาการกีดกันสีผิวถูกยกเลิกในสถานที่ราชการทุกแห่งรวมทั้งโรงเรียนด้วย รัฐบาลกลางต้องการให้เด็กทั้งสองผิวสีไปโรงเรียนเดียวกัน ทำให้เด็กแอฟริกันอเมริกันต้องนั่งรถ School Bus ระยะทางไกลขึ้นเพื่อไปโรงเรียนเดียวกันกับคนผิวขาว ส่วนพ่อแม่ผิวขาวที่มีตังค์หน่อยที่ไม่อยากให้ลูกไปปะปนกับเพื่อนใหม่ก็ย้ายออกจากพื้นที่ไปยังพื้นที่อื่นรอบๆตัวเมือง หรือเรียกว่า White Flight หรือไม่ก็เอาลูกออกแล้วส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนของเอกชนหรือ Private school แทน ผลก็คือโรงเรียนของรัฐในเขตตัวเมืองก็ไม่มีเงินสนับสนุนเหมือนเดิม คุณภาพก็ไม่ได้ดีขึ้น เราจะจึงจะเห็นครอบครัวที่พอมีฐานะหน่อยจะเลือกอยู่อพาร์ทเมนต์ใจกลางเมือง เนื้อที่ไม่เยอะ แล้วเก็บเงินไว้ส่งลูกไปเรียน private school หรือเลือกซื้อบ้านในเขตรอบๆตัวเมือง ไกลออกมาหน่อย ราคาบ้านแพงกว่า แต่ school district เรทติ้งดี แฟนเราสรุปให้ฟังง่ายๆว่า ราคาบ้านแพงตามราคาเรทติ้งของโรงเรียน

Comments


bottom of page